รัฐไฟเขียวปลดล็อคอาหารสัตว์แค่แก้ปัญหาระยะสั้น ผู้ผลิตอาหารสัตว์ฟันธง ราคาอาหารสัตว์ไม่ลง สะท้อนความท้าทายไทยสู่การเป็น”ครัวโลก”
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีนายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ก็เคาะแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เป็นปัญหายืดเยื้อมาหลายเดือน
โดยเห็นชอบ 3 แนวทางคือ 1.ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน ระหว่างเดือนพ.ค.-31 ก.ค.65 ซึ่งเป็นการผ่อนปรนมาตรการที่กำหนดไว้เดิมในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดในประเทศ
2.เพิ่มโควตานำเข้าข้าวโพดจากเดิมกำหนดไว้ 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน ภายในเดือนพ.ค.-31 ก.ค.65 จะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราวในช่วง 3 เดือนนี้ และ3.การนำเข้าช่องทางอื่นตามปกติ
ถือเป็นข้อยุติที่ 5 ฝ่ายยอมรับทั้งกระทรวงพาณิชย์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมการค้าพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ พร้อมทั้งยังให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมดและสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการต่อไปได้เพื่อความเหมาะสม
ทั้งนี้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 63 ต่อเนื่องมาปี 64 ที่ประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบเจอปัญหาเรื่องปริมาณผลผลิตจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ผลผลิตจึงลดลง ราคาก็สูงขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา อาเจนติน่า และบราซิล ผู้ปลูก และส่งออก ข้าวโพดและถั่วเหลือง มาปี 65 ก็ถูกซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซีย ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวโพด และข้าวสาลีกว่า 30%ของโลก
ขณะที่ภาคเอกชนสะท้อนมุมมองความเห็นในเรื่องนี้โดยพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า แม้มติที่ออกมา ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ก็ต้องยอมให้ออกมาเป็นมติ และทดลองดำเนินการก่อน เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นโดยเร็วจากที่ล่าช้ามาหลายเดือน หลังจากนี้อีก 1 เดือน หรือ 2 เดือนคงต้องกลับมาคุยกันอีก และราคาอาหารสัตว์ไม่น่าจะปรับลดลงได้ อย่าฝืนความจริง เพราะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลกปรับขึ้นมากนอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบทั้งข้าวโพด ข้าวสาลี รวมถึงมันเส้นในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นมาก และสูงกว่าราคาในประเทศ อีกทั้งยังมีปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่ามาก และมีโอกาสแตะที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ฯ จึงยากที่จะทำให้ราคาอาหารสัตว์ไม่ปรับขึ้น
อย่างไรก็ตามแม้รัฐบาลจะไฟเขียวมาตรการแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แต่ดูเหมือนจะ”สายไปเสียแล้ว” เพราะราคาสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะสินค้ามหาชนอย่างราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ก็ขยับขึ้นไปแล้ว โดยเนื้อหมูขึ้นเกินกว่า กก. 200 บาท ขณะที่ไข่ไก่ก็ขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์มเป็นฟอง 3.50 บาท รวมถึงเนื้อไก่ เนื่องจากทนพิษต้นทุนอาหารสัตว์แพงไม่ไหว ขณะที่สินค้าอื่นๆก็ทยอยปรับราคาขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แน่นอนว่า ราคาอาหารและสินค้าที่แพงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนให้พุ่งขึ้นตามไปแล้วสวนทางกับรายได้ที่ยังเท่าเดิม
และสุดท้ายมาตรการนี้ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือนร้อน กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องหาแนวทางถาวารในการแก้ปัญหานี้ เพราะปัจจัยจากภายนอกเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ การหาแนวทางแก้ปัญหาที่ถาวรเพื่อกำหนดทิศทางอาหารสัตว์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร หากไทยจะก้าวเป็น”ครัวโลก” ก็ต้องแก้ปัญหาให้คนทั้งประเทศอยู่ได้เสียก่อน
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/business/1002937