×

ต้นทุนสินค้าเกษตรพุ่งทะลุ 100% ชงรัฐบาลเพิ่มวงเงินประกันรายได้

Please enter correct URL of your document.

สงครามรัสเซีย-ยูเครนสะเทือนต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรรอบใหม่ ราคา “ปุ๋ย-น้ำมัน-ค่าแรง” เพิ่มขึ้นกว่า 100% ฉุดรายได้เกษตรกรเดือดร้อน ข้าว-มัน-ปาล์ม-ยาง อ่วม ชงข้อมูลใหม่ให้รัฐปรับฐานราคาประกันรายได้ที่ใช้มาแล้ว 3 ปี พร้อมเจรจาร่วมทุนผลิตปุ๋ยจีน-ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ

ภาคเกษตรกรไทยกำลังเผชิญความท้าทายอย่างหนัก หลังวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนร่วม 1 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลต่อต้นทุนพลังงานปรับสูงขึ้นกระทบราคาน้ำมันในประเทศ-ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจนต้องปรับขึ้นค่าเอฟที งวดที่ 2 อีกระลอก

ขณะที่ต้นทุนการเพาะปลูก-ปศุสัตว์ต่างก็ได้รับแรงกดดันจากราคาธัญพืช-แม่ปุ๋ยที่ผลิตจากแหล่งรัสเซีย-ยูเครนปรับสูงขึ้น รวมถึงมาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียทำให้หลายประเทศต้องแย่งชิงซื้อจากแหล่งอื่นทดแทน

ปัญหาระดับโลกลามมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้าจากต้นทุนการเกษตรสูงขึ้น แต่ระดับรายได้ลดลง ซึ่งภาครัฐยังคงใช้มาตรการประกันรายได้ราคาเดิม 3 ปีแล้ว

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ขณะนี้ต้นทุนเกษตรกรโดยรวมปรับสูงขึ้น ทั้งจากต้นทุนปุ๋ย ค่าน้ำมัน และค่าแรงงาน ซึ่งหากแยกเฉพาะด้านพบว่า ต้นทุนปุ๋ยและเคมีเกษตรปรับสูงขึ้นไปเกินกว่า 100% จากปีก่อน

ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งในบางสินค้ากระทบรุนแรง เพราะราคาขายในตลาดไม่ได้สูงขึ้น เช่น ข้าว ทำให้ขณะนี้มีสมาชิกร้องเรียนเข้ามาขอให้เสนอภาครัฐพิจารณาขยับฐานราคาในโครงการประกันรายได้ที่ใช้ระดับเดิมมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้เพียงพอกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากนี้จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อหารือกับรัฐต่อไป

“ผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากแยกเป็นรายชนิด สินค้าพืชไร่จะกระทบมากกว่าสินค้าพืชสวน เช่น ข้าว ข้าวโพด จะกระทบมากกว่าปาล์ม ยางพารา เพราะต้นทุนขึ้น แต่ราคาตลาดก็ขยับขึ้น ส่วนสินค้าปศุสัตว์จะมีกลุ่มสุกรที่กระทบมากที่สุดจากต้นทุนอาหารสัตว์และโรค ตามด้วย ไก่เนื้อ ไก่ไข่”

ขอเสนอให้รัฐพิจารณาผลิตปุ๋ยเอง ลดการนำเข้า เพราะปัจจุบันไทยมีแหล่งแร่ที่ใช้เป็นแม่ปุ๋ย 2 ชนิด คือ โพแทสเซียม ในแหล่งที่ จ.ชัยภูมิ และไนโตรเจน ซึ่งได้จากบายโปรดักต์ของการกลั่นน้ำมัน ซึ่งเรามีโรงกลั่น 4-5 โรง สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยแอมโมเนีย

นอกจากนี้ ไทยควรพิจารณาเจรจาความร่วมมือกับจีนที่เป็นแหล่งผลิตฟอสเฟตที่สำคัญ ร่วมกันลงทุนเป็นบริษัทร่วมทุนผลิตปุ๋ยสำหรับ 2 ประเทศ

ส่วนปัญหาต้นทุนค่าน้ำมัน อยากให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มโดยใช้คูปองน้ำมันมาช่วย ส่วนการลดต้นทุนอาหารสัตว์ ขอให้รัฐหันมาส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศทดแทนการนำเข้า เช่น ข้าวเปลือก หรือข้าวสารเก่าในสต๊อกรัฐบาล

อีกด้านหนึ่งเกษตรกรต้องปรับแผนลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การปรับจากการใช้ปุ๋ยเคมีไปเป็นอินทรีย์ ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อไร่ลดลงจาก 4,000-5,000 บาท เหลือ 3,000 บาทต่อไร่

ขยับประกันรายได้ข้าว-มัน-ปาล์ม

ด้าน นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า สมาคมขอให้รัฐพิจารณาทบทวนราคาประกันรายได้ข้าว ซึ่งเป็นระดับที่ใช้มาต่อเนื่อง 3 ปีแล้ว

ขณะที่ปัจจุบันต้นทุนการเพาะปลูกข้าวปรับขึ้นไปทั้งหมด โดยเฉพาะค่าปุ๋ยยูเรีย และปุ๋ยสูตรอื่นที่ใช้ในนาข้าว เช่น 16-8-8 ปรับจากกระสอบละ 800-900 เป็น 1,100-1,200 บาท ซึ่งมีผลให้ต้นทุนการเพาะปลูกของชาวนาเฉลี่ยต่อไร่ 4,500-5000 บาท (โดยปกติต้องปลูกประมาณ 1.5 ไร่ จะได้ข้าวเปลือก 1 ตัน)

โดยคาดว่าผลผลิตปีนี้จะมีปริมาณ 28 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลิตข้าวนาปรัง คาดว่าปลายเดือนมีนาคมนี้ก็น่าจะออกสู่ตลาดหมด ส่วนราคาตลาดขณะนี้ ข้าวขาว ตันละ 8,000 บาท ต่ำกว่าราคาประกันที่ตันละ 10,000 บาท ส่วนข้าวหอมปทุม ตันละ 9,000 บาท จากราคาประกันตันละ 11,000 บาท และข้าวหอมมะลิ ตันละ 12,000-13,000 บาท จากราคาประกันตันละ 15,000 บาท

ปุ๋ยมันสำปะหลังทะลุ 200%

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมอยากขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับราคาประกันรายได้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น จาก กก.ละ 2.50 บาท เป็น 2.70 บาท เพราะสถานการณ์ต้นทุนการเพาะปลูกของเกษตรกรสูงขึ้น จากเดิม กก.ละ 2.20-2.30 บาท เป็น 2.50 บาท

เป็นผลจากราคาปุ๋ยที่ปรับขึ้นมากว่า 150-200% จากเดิมปุ๋ยยูเรียขายกระสอบละ 500 บาท เป็น 1,100 บาท ปุ๋ยชนิดอื่น ๆ ก็ปรับเพิ่มขึ้นจากกระสอบละ 700 บาท เป็น 1,100 บาทต่อกระสอบ ยังไม่รวมค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าแรง ที่เป็นต้นทุนของเกษตรกร

ส่วนราคารับซื้อหัวมันสด กก.ละ 2.60 บาท กำไร 10 สตางค์ถือว่าน้อย ซึ่งแม้ว่าภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือจัดหาปุ๋ยราคาถูก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และมองว่าแนวโน้มราคาปุ๋ยจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ตอนนี้ประกันรายได้มาช่วยประมาณ 15% ของผลผลิตเท่านั้น ผลผลิตจะออกช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม เป็นช่วงที่ผลผลิตออกเยอะ คาดการณ์ว่าผลผลิตปีนี้ 34 ล้านตัน ความต้องการใช้ในประเทศ 24 ล้านตัน และส่งออก 10 ล้านตัน

ราคายังพอมีกำไรจากต้นทุน กก.ละ 10 สตางค์ แต่จีนก็มีการปลูกข้าวโพดมากขึ้นมาใช้ทดแทน ก็ต้องดูว่าจะกระทบราคามันหรือไม่ และอนาคตเกษตรกรไทยต้องพัฒนาเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป้าหมาย 4 ตันต่อไร่ แต่ปัจจุบันยังได้ 3.2-3.3 ตันต่อไร่”

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าราคาตลาดปาล์มน้ำมันจะขยับสูงสุดในรอบ 9 ปี ไปถึง กก.ละ 13 บาท แต่ต้นทุนชาวสวนปาล์มก็ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปีเช่นกัน จากเดิมที่ต้นทุนการผลิตผลปาล์มเฉลี่ย กก.ละ 3.18-3.78 บาท เพิ่มเป็น กก.ละ 5-6 บาท

โดยเฉพาะปุ๋ยปรับเกิน 100% เช่น โพแทสเซียม 0-0-60 ปรับจากตันละ 12,000-14,000 บาท ไปแตะระดับ 30,000 บาทแล้ว หรือยูเรียจากที่ตันละ 4,500-5,000 บาท ปรับเป็น 20,000 บาท ซึ่งจะใช้ปุ๋ยเฉลี่ย 8-12 กก.ต่อต้นต่อปี ต้นทุนรวมอื่น ๆ เช่น ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง รวม 80-90%

ขณะที่ราคาประกันรายได้เกษตรกรยังคงเดิมอยู่ที่ กก.ละ 4 บาท มา 3 ปีแล้ว เป็นไปได้หรือไม่หากรัฐจะพิจารณาทบทวนระดับราคาประกันรายได้ เป็น กก.ละ 4.50 บาท จะช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพเพราะรัฐประกันรายได้ให้เกษตรกร

สำหรับผลผลิตปาล์มขณะนี้ทยอยออกไปถึงเดือนสิงหาคม คาดว่าจะมีผลปาล์มทะลายเฉลี่ยเดือนละ 1.0-1.5 ล้านตัน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% จะได้น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่ 2.5-2.6 แสนตัน

หักการใช้เพื่อการบริโภคในประเทศ และการใช้เพื่อผลิตไบโอดีเซลก็จะเหลือเดือนละ 6-7 หมื่นตัน ซึ่งล่าสุดสต๊อกน้ำมัน CPO เดือนมีนาคมมี 1.7 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.ที่มี 1.3 แสนตัน อยู่ในมือเอกชนทั้งโรงสกัด โรงกลั่นและโรงงานไบโอดีเซล

สวนยางแบกรับ 3 ต้นทุน

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเหตุรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตสวนยางเพิ่มขึ้นทุกทาง โดยต้นทุนส่วนใหญ่คือ ราคาปุ๋ย แรงงาน ราคาน้ำมัน ซึ่งทั้ง 3 อย่างเป็นปัจจัยหลักของชาวสวน

“ถ้าสงครามยูเครนยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยอย่างแน่นอน ชาวสวนยางเดือดร้อนแน่นอน เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการประกันรายได้ยางพารา รัฐบาลกำหนด กก.ละ 60 บาท/กก. ทั้งที่ราคาต้นทุนการผลิตที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุไว้ อยู่ที่ 63.65 บาท/กก. เมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว ตอนนี้เกษตรกรชาวสวนยางเดือดร้อนแน่นอน”

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-895788

บทความที่คุณน่าจะสนใจ

จดหมายข่าวสำนักงานปศุสัตว์ยั่งยืน  ฉบับที่ 11 ประจำเดือน มิถุนายน-กฤกฎาคม 2567 

ไฮไลท์หัวข้อ การพัฒนาวัตถุดิบยั่งยืน การเตรียมความพร้อมการพัฒนาวัตถุดิบ ความร่วมมือกับหน่วยงานในการพัฒนาวัตถุดิบ กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่น ข่าวประชาสัมพันธ์ 169

จดหมายข่าวสำนักงานปศุสัตว์ยั่งยืน  ฉบับที่ 10 ประจำเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2567 

ไฮไลท์หัวข้อ การพัฒนาวัตถุดิบยั่งยืน การเตรียมความพร้อมการพัฒนาวัตถุดิบ ความร่วมมือกับหน่วยงานในการพัฒนาวัตถุดิบ กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในเครือข่าย ข่าวประชาสัมพันธ์ 300

จดหมายข่าวปศุสัตว์ยั่งยืน ปีที่2: ฉบับที่9: เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2567

🔥 ไฮไลท์หัวข้อ♦️ความคืบหน้ากิจกรรมความร่วมมือ (คณะทำงานTSFR,ภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย และภาคีข้าวคาร์บอนต่ำไทย)♦️ความร่วมมือกับ USSEC♦️กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 525

ราคา

Price
วัตถุดิบอาหารสัตว์ต่อเดือน

ข้อมูล

Information
ประชากรสัตว์เเละภาษี

กฏระเบียบ

Rules and Regulations
พรบ.

บทความ

Research and Articles
งานวิจัยเเละอื่นๆ

Right Menu Icon