ตลาดน้ำมันปาล์มอลหม่าน หลังอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลราคาปาล์มทะลายพุ่งพรวดทะลุ 12 บาท/กก. กรมการค้าภายในเรียก โรงสกัด-โรงรีไฟน์-ชาวสวนปาล์มประชุมด่วน หาทางตรึงราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด หวั่นผู้ประกอบการแห่ส่งน้ำมันปาล์มออกนอกประเทศ
สั่งเพิ่ม Safety Stock น้ำมันปาล์มจาก 200,000 ตันเป็น 300,000 ตัน แลกไม่คุมราคาน้ำมันปาล์มบรรจุปี๊บ-ปาล์มขายโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมชงสูตรใหม่เก็บภาษี-ค่าธรรมเนียมส่งออกน้ำมันปาล์มดึงเงินชดเชยราคาปาล์มขวด
สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มวิกฤตหนัก หลังรัฐบาลอินโดนีเซียมีคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบ/บริสุทธิ์-โอเลอิน-น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว) มีผลตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน เป็นต้นมา เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มในประเทศขาดแคลน และมีราคาแพง (ตั้งเป้าให้ราคาน้ำมันปรุงอาหารลดลงมาเหลือลิตรละ 14,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 33 บาท)
ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกทะยานสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และลุกลามไปยังน้ำมันพืชประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันถั่วเหลือง-น้ำมันดอกทานตะวัน-น้ำมันข้าวโพด ต่างก็ปรับราคาสูงขึ้นโดยเฉพาะตลาดน้ำมันพืชปรุงอาหารในประเทศไทย ปรากฏน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์กับน้ำมันถั่วเหลืองขายในราคาเดียวกัน คือ ขวดละ 69-70 บาท จากที่่ผ่านมา น้ำมันปาล์มจะมีราคา “ต่ำกว่า” น้ำมันถั่วเหลือง
เพิ่มสต๊อกปาล์มแสนตัน
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงสกัด/โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม-ชาวสวนปาล์ม เพื่อหารือถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำมันปาล์ม
หลังจากอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค โดยได้ตั้ง “คณะทำงาน” ร่วมกันเพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์ และสร้างความสมดุลให้ทั้งผู้ผลิต-ผู้บริโภค และเกษตรกรอยู่ได้
“เชื่อว่ามาตรการที่อินโดนีเซียใช้ชะลอส่งออกน่าจะเป็นในช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย อินโดนีเซียก็จะกลับมาส่งออกอีก หากเทียบกันตอนนี้อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 1 ปริมาณ 200 ล้านตัน มีสต๊อกประมาณ 5-6 ล้านตัน
เทียบกับไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 3 ห่างกันมาก โดยไทยผลิตน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 3 ล้านตัน ตอนนี้มีสต๊อกอยู่ประมาณ 200,000 ตัน (ตัวเลข ณ วันที่ 2 พฤษภาคม สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ 180,835 ตัน)” นายวัฒนศักย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นกรมการค้าภายในได้สั่งให้เพิ่มปริมาณสต๊อกเพื่อความมั่นคง (safety stock) จากเดิมกำหนดไว้ที่ 200,000 ตัน ให้เพิ่มขึ้นมาอีก 100,000 ตัน เป็น 300,000 ตัน และขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ “ตรึงราคา” น้ำมันปาล์มขวดไว้ที่ 64-66 บาท เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคมากนัก
ส่วนการประเมินสถานการณ์ผลผลิตปาล์มในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจัดเป็นช่วง peak ของผลปาล์มในประเทศ คาดว่าจะมีผลปาล์มทะลายออกมาประมาณ 2 ล้านตัน
“แต่ยังไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์ม เพราะช่วงนี้ถือเป็นภาวะตลาดขาขึ้น การส่งออกจะช่วยสร้างรายได้กลับสู่ประเทศได้อย่างมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อทางด้านเกษตรกรด้วยราคาผลปาล์มวันนี้สูงขึ้น แต่ก็ต้องประคับประคองสถานการณ์ไว้” นายวัฒนศักย์กล่าว
ผลปาล์มพุ่งทะลุ 12 บาท/กก.
ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ราคารับซื้อผลปาล์มน้ำมันในหลายพื้นที่ของประเทศ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ได้ปรับราคาสูงขึ้นเกินกว่า 12 บาทต่อกิโลกรัมไปแล้ว โดยราคาผลปาล์มในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 11.40-12.10 บาท
จังหวัดกระบี่ กิโลกรัมละ 11.20-12.10 บาท ซึ่งถือเป็นระดับราคาสูงสุดรอบใหม่ จากที่ราคาผลปาล์มจากแหล่งสำคัญเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 10 บาท ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ปรับขึ้นจากก่อนหน้านี้ กิโลกรัมละ 55-56 บาท มาเป็นกิโลกรัมละ 59-62 บาท
“ราคารับซื้อผลปาล์มหน้าป้ายบางจุดก็ทะลุ 12 ต่อ กก.ไปแล้ว ตามปกติแต่ละโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจะจ่ายสูงกว่าราคารับซื้อหน้าป้ายประมาณ 20-30 สต. ขึ้นอยู่กับคุณภาพและปริมาณด้วย ถ้าเป็นลานเทชั้นดี ปาล์มคุณภาพดี ปริมาณเยอะก็จะบวกเพิ่มเยอะมาก” แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนการที่กรมการค้าภายในสั่งเพิ่มปริมาณ safety stock น้ำมันปาล์มจาก 200,000 ตัน เป็น 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ตันนั้น โดยแจ้งว่าเพื่อรักษาปริมาณน้ำมันปาล์มในประเทศให้ราคามีเสถียรภาพ ไม่ให้สูงมากเกินไป หากการส่งออกน้ำมันปาล์มมีราคาดีกว่า
แต่นั่นหมายความว่า โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบก็ต้องไปหาเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องมาแย่งซื้อผลปาล์มในช่วงที่ราคากำลังสูง “เราต้องใช้เงินซื้อผลปาล์มมากกว่าปีที่ผ่านมา 2-3 เท่า แต่พอสกัดออกมาเป็นน้ำมันปาล์มดิบแล้วไปขายก็ยังมีเครดิตเทอม 30 วันเหมือนเดิม”
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ในที่ประชุมร่วมมีการหารือกันหลายแนวทาง เช่น หากปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มต่ำกว่า 300,000 ตัน ก็ควรห้ามส่งออกดีหรือไม่ ซึ่งทางกรมการค้าภายในหวั่นว่าจะกระทบกับราคาผลปาล์ม หากประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม จึงเสนอให้มีการเก็บภาษีส่งออก (ค่าธรรมเนียมพิเศษ)
แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดเรตว่า จะกำหนดเท่าไร เพื่อนำเอาภาษีนั้นมาชดเชยให้กับการตรึงราคาน้ำมันปาล์มขวด แม้ว่าแนวทางนี้ ผู้ประกอบการน้ำมันปาล์ม (โรงสกัด-โรงรีไฟน์) ก็ยังได้รับผลกระทบ เพราะอาจจะมีการกดราคารับซื้อผลปาล์มเพื่อไปจ่ายเป็นภาษีส่งออก “แต่คิดว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด”
แลกตรึงราคาปาล์มขวด 1 ลิตร
สำหรับการขอความร่วมมือเพื่อ “ตรึงราคา” น้ำมันปาล์มขวด (1 ลิตร) ไว้ที่ขวดละ 64-66 บาทนั้น ผลการหารือร่วมกันทุกฝ่ายมองว่า “สามารถทำได้” เพราะเป็นการกำหนดมาตรการเฉพาะในส่วนของน้ำมันปาล์มขวด ซึ่งคิดเป็นประมาณ 40% หรือราว 40,000 ตัน ส่วนราคาน้ำมันปาล์มที่ขายให้ภาคส่วนอื่น (น้ำมันปาล์มปี๊บ-น้ำมันปาล์มเพื่ออุตสาหกรรม) นั้น ไม่มีการควบคุมราคาจำหน่าย แต่จะขายเป็นราคาตลาด
ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ออกสำรวจตลาดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวดในห้างสรรพสินค้าชั้นนำพบว่า ราคาจำหน่ายเกือบทุกยี่ห้ออยู่ที่ขวดละ 69-70 บาท หรือสูงกว่าราคาที่จะขอความร่วมมือให้ตรึงราคาไปแล้ว และหากคำนวณโครงสร้างราคา ประมาณการเบื้องต้นระหว่างราคาผลปาล์มน้ำมัน-ราคาน้ำมันปาล์มดิบ-ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์ขวดจะพบว่า
ที่ระดับราคาผลปาล์ม 10 บาท/กก. จะต้องขายน้ำมันปาล์มขวดประมาณ 70 บาท หากผลปาล์มขึ้นไปถึง 11-12 บาท/กก. เหมือนในปัจจุบัน จะต้องขายปลีกน้ำมันปาล์มบรรจุขวดถึง 75-80 บาท ส่วนการที่จะขายน้ำมันปาล์มขวดในราคาขวดละ 64-66 บาทนั้น ราคาผลปาล์มจะต้องไม่เกิน 9-10 บาท/กก.
ส่วนที่โรงงานรีไฟน์ “ยอม” ที่จะตรึงราคาน้ำมันปาล์มขวดไว้ที่ 64-66 บาทนั้น มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างการยอมตรึงราคาน้ำมันปาล์มขวด กับ 1) การไม่ควบคุมการจำหน่ายน้ำมันปาล์มบรรจุปี๊บและน้ำมันปาล์มเพื่อการอุตสาหกรรม และ 2) การไม่ควบคุมหรือจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งขณะนี้ราคาในตลาดโลกสูงมาก และเชื่อว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มจะต้องเพิ่มสูงขึ้นเพื่อทำกำไร
หาจุดสมดุลปาล์ม
นายกฤษดา ชวนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ (VPO) นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ราคาปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นเพราะมีการส่งออกมากขึ้น ในช่วงของไตรมาส 1/2565 เทียบกับไตรมาส 1/2564 จากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ 70,000 ตัน และเป็นจังหวะที่ตลาดโลกมีความผันผวน
“ปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มในตลาดโลกลดลง” ส่วนกรณีที่รัฐบาลอินโดนีเซียที่ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มนั้น เชื่อว่าจะเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรอินโดนีเซียก็จะต้องระบายสต๊อกน้ำมันปาล์ม เพื่อป้องกันไม่ให้แท็งก์เก็บปาล์มเต็ม
ด้านความต้องการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศก็มีการปรับลดลง แต่ยังไม่มาก โดยปกติไทยจะใช้น้ำมัน CPO ประมาณ 220,000 ตัน แต่ภายหลังจากรัฐบาลปรับลดมาตรการใช้ไบโอดีเซลจากส่วนผสมของน้ำมัน B7 เหลือเป็น B5 ก็ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มลดลงประมาณ 20,000 ตัน เหลือ 180,000 ตัน
“แนวโน้มในไตรมาส 2/2565 ความต้องการตลาดโลกยังคงสูง ราคาในตลาดล่วงหน้าก็ยังสูง แต่ผมมองว่าราคาผลปาล์มในประเทศไม่น่าจะสูงไปถึง 13 บาท/กก. เพราะมันมีเรื่องของดีมานด์และซัพพลายเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อราคาสูงไม่สมเหตุสมผล ดีมานด์ก็อาจจะลดลง และมีปัจจัยจากมาตรการของอินโดนีเซีย ซึ่งต้องรอดูความชัดเจนจากนี้อีกหนึ่งเดือน ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ความยากตอนนี้ก็คือ เมื่อมีแนวโน้มราคาขึ้น ทางผู้ประกอบการก็ต้องบริหารจัดการสต๊อกน้ำมันปาล์ม ตอนนี้ก็สต๊อกกันไม่เยอะ และต้องคอยมอนิเตอร์สถานการณ์ เพราะมีความผันผวนมาก ตัวเลขต่าง ๆ มีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะตัวเลขผลผลิตกับตัวเลขการส่งออกน้ำมันปาล์ม
ซึ่งปัจจัยหลักมาจากตลาดโลก น้ำมันพืชชนิดอื่นอย่างน้ำมันทานตะวันที่หายไปเลย จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิต-ส่งออกน้ำมันทานตะวันหลักของโลก” นายกฤษดากล่าว
ส่วนการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันของประเทศขณะนี้ กรมการค้าภายในจะต้องหา “จุดสมดุล” ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ราคาผลปาล์มที่ 9 ถึง 10 บาท/กก. ก็ถือว่าเป็นราคาที่สูง และเกษตรกรก็มีกำไรในระดับที่สูงมากด้วย ส่วนแนวทางการปรับเพิ่มสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบ (safety stock) อีก 100,000 ตันนั้น
เห็นว่าปัจจุบันจำนวนโรงสกัดน้ำมันปาล์มเพิ่มสูงขึ้นมาก ดังนั้นหากกระจายออกไปให้ทุกโรงช่วยกันสต๊อกซื้อรายละ 2,000-3,000 ตัน ก็น่าจะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนัก แต่หลังจากนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเก็บสต๊อก หรือจะขายออกไป
โรงงานถั่วเหลืองเร่งผลิตเต็มที่
ด้าน นายคุณา วิทยฐานกรณ์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กล่าวว่า กรณีที่ราคาน้ำมันปาล์มปรับสูงขึ้น ถามว่าผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองจะได้รับส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น นายคุณายืนยันว่า ตอนนี้ส่วนแบ่งตลาดของน้ำมันปาล์มยังอยู่ที่ 60-70%
ขณะที่น้ำมันถั่วเหลืองอยู่ที่ 20% ของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งหมด และขณะนี้ทางโรงงานผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองทั้ง 4 โรง ต่างก็มีการเร่งกำลังการผลิตเต็มที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีช่องว่างในตลาดน้ำมันพืชเกิดขึ้น แต่ก็คงไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากกว่านี้
“ตอนนี้ต้นทุนการผลิตก็ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาเมล็ดถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้น 20-30% ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2565 ทั้งยังมีต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล และการปรับขึ้นราคา package ทั้งกล่อง เม็ดพลาสติก เหล็กทำปี๊บ ล้วนแต่เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่ราคาจำหน่ายน้ำมันถั่วเหลือง ทางสมาคมก็ได้ให้ความร่วมมือในการตรึงราคาไว้ที่ระดับ 64-65 บาท ในส่วนของน้ำมันบรรจุขวดเท่านั้น แต่สถานการณ์ราคาของไทยอาจจะมีปรับเปลี่ยน ภาคเอกชนได้จับตามองนโยบายของกระทรวงพลังงานขณะนี้ หลังจากมีกระแสข่าวจากกระทรวงพลังงานที่ระบุว่า
จะมีการพิจารณาทบทวนการใช้ไบโอดีเซลเพื่อให้ส่วนผสมของน้ำมันดีเซลลดลงเหลือ B3 จากก่อนหน้านี้ที่ลดการใช้ B7 เหลือ B5 เพื่อลดแรงกดดันต่อราคาน้ำมันไบโอดีเซล หากมีการปรับเปลี่ยนจะกระทบต่อราคาผลผลิตปาล์มในฤดูกาลใหม่” นายคุณากล่าว
ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-925765