“บิ๊กป้อม” สั่งติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน ตั้งทีมกำกับดูแลผลักดันราคาผลปาล์มทะลายอยู่ที่ 5-8 บาท คาดปีนี้ชาวสวนปาล์มมีแนวโน้มได้เงินสูงถึง 1 แสนล้าน เทียบปี 62 สูงขึ้นราว 100%
วันที่ 5 ต.ค. 2564 พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สั่งการให้ตนในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมัน ติดตามสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันให้เกิดเสถียรภาพ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อความอยู่ดีกินดีของชาวเกษตรกรชาวสวนปาล์มในพื้นที่
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร กำชับมาตรการด้านดีมานด์ ซับพลาย เพิ่มความต้องการในการใช้ และบริหารสต๊อกส่วนเกินให้เกิดสมดุล โดยตั้งทีมงานกำกับดูแลใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมา จนสามารถผลักดันราคาผลปาล์มทะลายให้อยู่ที่ระดับ 5-8 บาท ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของผลปาล์มในช่วง 3 ไตรมาสปี 2564 สูงถึง 81,000 ล้านบาท คาดว่ายอดเงินที่ชาวสวนปาล์มได้รับในปีนี้มีแนวโน้มสูงถึง 100,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่า 50,000 ล้านบาทเศษ ในปี 2562 สูงขึ้นราว 100% โดยราคาเฉลี่ยตลอดปีสูงกว่าระดับประกันรายได้ 4 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนั้น พล.อ.ประวิตร ยังได้ริเริ่มนโยบายผลักดันการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม เพื่อเพิ่มความต้องการในการใช้ รองรับความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรฐาน Euro 5 ซึ่งมีการเตรียมการแต่งตั้ง พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ เป็นฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมัน พล.อ.ภุชพงศ์ พงษ์ศิริ และ นายบุรินทร์ สุขพิศาล เป็นรองประธาน ดำเนินการผลักดันการแปรรูปด้านการผลิต การตลาด และมาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิ่งแวดล้อมให้ผลิตภัณฑ์เป้าหมายจากน้ำมันปาล์ม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ 6 ชนิดไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 8 มิ.ย. 2564 เช่น น้ำมันหล่อลื่นชีวภาพ ผงซักฟอกชีวภาพ พาราฟินเพื่อใช้เป็นสารแลกเปลี่ยนพลังงานและใช้เคลือบกันน้ำให้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่จะใช้แทนพลาสติก น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ และเห็นชอบในการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์ที่ 7 คือ น้ำมันกรีนดีเซล และผลิตภัณฑ์ที่ 8 น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Biojet Fuel) เรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างที่คณะทำงานนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เพื่อเห็นชอบและรายงานต่อ ครม.ต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางในการผลิตกรีนดีเซลและไบโอเจ็ตรายสำคัญในภูมิภาคของโลก รองรับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศในภูมิภาคต่อไป
ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2211184