สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ ร้องรัฐช่วยเหลือเกษตรกรหลังแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นมากกว่า 20% หวั่นกระทบห่วงโซ่การผลิตและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกเนื้อไก่ 1 แสนล้าน
นายพรชัย เอี่ยมสงวนจิตต์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ เผยว่า ช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ประสบปัญหาขาดทุนจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 มากอยู่แล้ว ยังต้องมาประสบกับปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองสูงขึ้นอีก 20-30% ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไก่พันธุ์สูงขึ้นตาม เนื่องจากอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักในการเลี้ยงสัตว์คิดเป็น 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด ขณะที่ไก่พันธุ์เป็นต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อเพื่อการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกขายต่างประเทศ ที่มีมูลค่าส่งออกปี 2564 คาดว่าสูงกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของชาติและสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้น ๆ
ทั้งนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ ที่แบกรับภาระการขาดทุนจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากยังปล่อยให้ปัจจัยการผลิตสูงต่อเนื่องแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและอุตสาหกรรมไก่เนื้อแน่นอน ขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรภาคการเลี้ยงสัตว์เป็นการด่วน เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตเดินหน้าต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับข้าวโพดเป็นส่วนผสมหลักในอาหารสำหรับไก่ทุกประเภท ราคาในปัจจุบันปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) จากเดิมที่ราคาประมาณ 9 บาทต่อ กก. ขณะที่กากถั่วเหลืองปรับจาก 13 บาทต่อ กก. เป็น 20 บาทต่อ กก.อย่างไรก็ตาม นโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลให้กับพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด กากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง โดยเฉพาะข้าวโพดมีการประกันรายได้ให้เกษตรกรที่ราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัมและชดเชยส่วนต่างกับราคาตลาดให้กับเกษตรกร แต่ไม่มีการกำหนดเพดานราคา ส่งผลให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้นมาก และสุดท้ายก็ทำให้ผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ต้องเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นทั้งห่วงโซ่การผลิต
ดังนี้สมาคมฯ ขอให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องการกำหนดเพดานราคาวัตถุดิบเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หรือใช้กลไลการตลาดเสรีเพื่อสร้างสมดุลด้านราคา เพื่อให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารมีเพียงพอต่อความต้องการและเดินหน้าต่อเนื่องได้ ไม่ถูกตัดตอนจนหยุดชะงักจากปัญหาราคาวัตถุดิบ
ที่มา: https://www.thansettakij.com/economy/501789