×

งดภาษี – เลิกโควต้า – ระงับส่งออกธัญพืช หนทางแก้ปัญหาวัตถุดิบ

Please enter correct URL of your document.

โดย … ธนา วรพจน์วิสิทธิ์

นับเป็นเรื่องดีที่ได้เห็นความกระตือรือร้นของรัฐ ในการหาหนทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลดต้นทุนการผลิต จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งควรเป็นมาตรการเร่งด่วน ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวถึงประเด็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีราคาสูง โดยจะพิจารณางดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ร้อยละ 2 เป็นการชั่วคราว เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์มีต้นทุนที่ลดลงและส่งต่อไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ด้วย มาตรการนี้เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่รัฐจะบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารท่ามกลางสถานการณ์วิกฤต แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามและมีความจำเป็นเร่งด่วนไม่แพ้กัน

มาตรการ 3:1 หรือ การซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน เป็นอีกอุปสรรคหนึ่งของการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งรัฐทราบดีและที่ประชุมร่วมกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ก็มีมติเห็นชอบให้ ยกเลิกมาตรการนี้เป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ก.ค.2565

มาตรการดังกล่าวน่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้บ้าง ในช่วงที่วัตถุดิบขาดแคลนและมีราคาแพง แต่สิ่งที่ทำให้การยกเลิกมาตรการนี้ไม่เกิดประโยชน์ก็คือการจำกัดช่วงเวลาที่สั้นเกินไป กล่าวคือกรอบเวลาถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565 จะเหลือเวลาอีกประมาณ 3 เดือน ซึ่งยังต้องรอรับทราบโควต้าหรือปริมาณการนำเข้าตามที่ภาครัฐจะกำหนดอีก ทั้งๆที่ไม่ควรกำหนด

“ที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีเดือนละประมาณ 1 แสนตัน ดูจากระยะเวลาที่เหลือประมาณ 3 เดือนครึ่งตามที่ภาครัฐได้ยกเลิกมาตรการ 3:1 ชั่วคราวแล้ว อาจจะนำเข้าได้ 3-4 แสนตัน หรืออาจจะไม่ถึง เพราะหลังจากแบ่งสรรปันส่วนปริมาณนำเข้าแล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องไปเจรจาสั่งซื้อจากต่างประเทศว่ามีของให้หรือไม่ มีเรือส่งหรือเปล่า ส่งให้ได้เมื่อไหร่ กว่าจะขอใบเสนอราคา กว่าจะตกลงปริมาณและราคากันได้กรณีดีสุดอาจส่งของให้ได้ใน 1 เดือนกรณีมีเรือและมีสินค้า แต่หากกรณีเขามีบุ๊คกิ้งลูกค้ารายอื่นไว้ล่วงหน้าหมดแล้วในเรื่องจำนวนสินค้าและเรือขนส่ง ถ้าจะเอาต้องรอหลังเดือนกรกฎาคม กรณีอย่างนี้ก็เสร็จเลย เพราะช่วงนั้นต้องไปใช้มาตรการ 3 : 1 ตามเดิมก็จะเกิดความยุ่งยาก” เป็นคำอธิบายของนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยที่ฉายภาพได้ชัดเจน
ทางที่ดีอย่างน้อยรัฐควรยกเลิกมาตรการ 3:1 ให้ครอบคลุมถึงสิ้นปี 2565 พร้อมยกเลิกการกำหนดโควต้าภาษีข้าวโพดจากประเทศสมาชิกใน WTO เช่น สหรัฐ บราซิล เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัด เพราะมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้การแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนสามารถเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากยูเครนประกาศระงับการส่งออกข้าวสาลี จากผลกระทบสงคราม และต้องเก็บสำรองไว้เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ราคาของข้าวสาลีในตลาดโลกขณะนี้มีราคาแพงใกล้เคียงกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือที่ 12.50 บาทต่อกิโลกรัม (จากปกติจะถูกกว่าข้าวโพดประมาณ 1 บาท) เมื่อราคาเท่ากันก็ไม่จูงใจให้เกิดการนำเข้าข้าวสาลีในช่วงนี้

การจัดการบรรเทาความขาดแคลนวัตถุดิบ ยังต้องคำนึงปริมาณผลผลิตที่มีอยู่แล้วในประเทศด้วย เพราะปัญหาสงครามทำให้ผู้ผลิตวัตถุดิบ เช่น ฮังการี อียิปต์ อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา ต่างก็ประกาศนโยบายห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศของตน ประเทศไทยก็ควรคำนึงถึงประเด็นนี้เช่นกัน

ปัจจุบันไทยพึ่งพิงการนำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 95 และยังต้องนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาเสริมส่วนที่ขาดจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกจำนวนมาก ถ้ารัฐยังคงนโยบายอนุญาตให้ส่งออกข้าวโพดได้อย่างเสรี และส่งออกกากถั่วเหลืองได้ร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตของโรงสกัดน้ำมันถั่วเหลืองเช่นเดิม จะขัดกับหลักความเป็นจริง และยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอแล้ว ยังส่งผลต่อราคาขายภายในประเทศ ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองยิ่งแพงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตที่ไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างปกติเช่นนี้ ดังนั้น การระงับการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลืองเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์วิกฤตจะคลี่คลายลง จึงเป็นสิ่งจำเป็น

การจัดการด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ ถือเป็นการจัดการต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหาร ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิตอาหารทั้งระบบ กระทบไปถึงต้นทุนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ที่กำลังถูกตรึงราคาขาย หากเขาเหล่านี้อยู่ไม่ได้ ท้ายที่สุดย่อมกระทบราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายแพง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์สงครามเช่นนี้ … งานนี้วัดฝีมือภาครัฐของไทยจะแก้ปัญหาได้ทันการณ์หรือไม่ … ต้องติดตาม

ที่มา: https://mgronline.com/onlinesection/detail/9650000028331

บทความที่คุณน่าจะสนใจ

จดหมายข่าวสำนักงานปศุสัตว์ยั่งยืน  ฉบับที่ 11 ประจำเดือน มิถุนายน-กฤกฎาคม 2567 

ไฮไลท์หัวข้อ การพัฒนาวัตถุดิบยั่งยืน การเตรียมความพร้อมการพัฒนาวัตถุดิบ ความร่วมมือกับหน่วยงานในการพัฒนาวัตถุดิบ กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานอื่น ข่าวประชาสัมพันธ์ 126

จดหมายข่าวสำนักงานปศุสัตว์ยั่งยืน  ฉบับที่ 10 ประจำเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2567 

ไฮไลท์หัวข้อ การพัฒนาวัตถุดิบยั่งยืน การเตรียมความพร้อมการพัฒนาวัตถุดิบ ความร่วมมือกับหน่วยงานในการพัฒนาวัตถุดิบ กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานในเครือข่าย ข่าวประชาสัมพันธ์ 272

จดหมายข่าวปศุสัตว์ยั่งยืน ปีที่2: ฉบับที่9: เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2567

🔥 ไฮไลท์หัวข้อ♦️ความคืบหน้ากิจกรรมความร่วมมือ (คณะทำงานTSFR,ภาคีปศุสัตว์และสัตว์น้ำไทย และภาคีข้าวคาร์บอนต่ำไทย)♦️ความร่วมมือกับ USSEC♦️กิจกรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 498

ราคา

Price
วัตถุดิบอาหารสัตว์ต่อเดือน

ข้อมูล

Information
ประชากรสัตว์เเละภาษี

กฏระเบียบ

Rules and Regulations
พรบ.

บทความ

Research and Articles
งานวิจัยเเละอื่นๆ

Right Menu Icon